Thursday, August 21, 2008

หนอนจิ๋ว


มาถึงเจ้าตัวนี้หนอนจิ๋ว หรือ microworm (Panagrellus sp.) มันเป็นหนอนซึ่งโตสุดๆแล้วมันก็ยังเป็นหนอนอยู่วันยังค่ำ มันจะไม่กลายร่างเป็นแมลงหรืออะไรอย่างอื่นเลย แล้วตัวมันโตขนาดไหน ไม่รู้ว่าอธิบายเป็นตัวเลขแล้วจะเห็นภาพหรือป่าว ตัวอ่อนเล็กสุดมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 ไมครอน ยาว 80 ไมครอน ตัวโตมีความยาว 80-140 ไมครอน (0.08-0.14 มม .) ผมว่าตัวใหญ่สุดก็ยังเล็กกว่าขนคิ้วเราอีก สามารถจะมีชีวิตอยู่ในน้ำ(น้ำจืดนะครับ)ได้นานประมาณ 20-30 ชั่วโมง การสืบพันธุ์ของหนอนจิ๋วเป็นแบบมีเพศ โดยเพศผู้จะมีหางหยัก ตัวเล็กกว่า และมีจำนวนน้อยกว่าเพศเมีย ซึ่งแม่ 1 ตัวจะให้ลูก 10-40 ตัวทุก ๆ 1-1.5 วัน ดังนั้น ตัวอ่อนจะเป็นตัวแม่ได้ในเวลา 3 วัน ซึ่งจะมีการเพิ่มขนาดถึง 3 เท่าในวันแรกและเป็น 5-6 เท่าในช่วง 3 วันต่อมา ชีวประวัติของเจ้าหนอนจิ๋วก็ประมาณนี้ล่ะครับ สำหรับผมเองในการเพาะปลากัดผมจะให้หนอนจิ๋วหลังจากลูกปลากัดอายุได้ประมาณ 3 วันเป็นอาหารเมื่อแรกเลยก็ว่าได้ มันจะดีตรงที่มันจะดิ้นไปดิ้นมาชวนให้ลูกปลากัดของเรากินอย่างมาก แถมตัวเล็กพอดีกับปากของลูกปลากัดตอนอายุขนาดนั้น แถมการเพาะขยายพันธุ์ก็ไม่ยุ่งยากด้วย แต่ข้อเสียมันก็มีนะครับ ซึ่งผมเองก็ยังไม่เจอกับตัว และก็ยังไม่อยากให้มันเกิดด้วย พี่ๆที่เคยใช้หนอนจิ๋วเล่าว่าถ้าหากใช้หนอนจิ๋วเป็นเวลานานและให้ไม่พอเหมาะ (คือให้มากไป)หลังจากที่หนอนจิ๋วมันตายลงก็จะเกิดเป็นกรดอยู่บริเวณพื้นอ่างที่ใช้อนุบาลลูกปลากัด แล้วยังไงล่ะครับ ต่อมาเวลาลูกปลากัดมันหิวมันก็จะว่ายลงไปหาอาหารที่พื้นอ่าง คราวนี้ล่ะครับ กรดที่เกิดจากหนอนจิ๋วที่เราให้ไปมันก็จะมีฤทธิ์กัดตะเกียบของลูกปลากัดเอาได้ คราวนี้พอเราเลี้ยงจนมันโตเราก็จะได้ปลากัดที่ไม่มีตะเกียบ(ก็คงเซ็ง ไม่ใช่น้อย) พี่ๆบางคนยังบอกว่าอย่าว่าแต่ตะเกียบเลย กระโดง หายก็เจอมาแล้ว แถมโปรตีนก็มีน้อยกว่าไรแดง หรืออาหารชนิดอื่นๆ ที่กล่าวมาไม่ใช่ว่าจะบอกว่าหนอนจิ๋วไม่ดีนะครับ การให้ปริมาณที่พอเหมาะและไม่ให้ติดต่อกันมากเกินไปก็จะไม่ทำให้กรณีตะเกียบหายเกิดขึ้น ซึ่งผมเองก็เป็นคนนึงที่ใช้หนอนจิ๋วอยู่ทุกๆวัน และก็ไม่มีปัญหาอย่างที่ว่าเกิดขึ้น ซึ่งมากที่สุดที่จะให้หนอนจิ๋วผมให้ไม่เกิน 10 วัน
ที่มา : ridbetta