ปลากัดหางมงกุฎ หรือปลากัดคราวน์เทล
เป็นปลากัดที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยนักเพาะเลี้ยงปลากัดชาวสิงคโปร์ เป็นปลากัดสายพันธุ์ใหม่ที่มีหางจักเป็นหนามเหมือนมงกุฎ และเป็นสายพันธุ์หนึ่งที่ได้รับความนิยมเลี้ยงกันมากในปัจจุบัน ลักษณะสำคัญของปลากัดชนิดนี้คือ ก้านครีบจะโผล่ยาวออกไปจากปลายหาง ลักษณะดูเหมือนหนาม ซึ่งอาจยาวหรือสั้นแตกต่างกันออกไป เช่นเดียวกับลักษณะการแยกของปลายหนาม และการแยกการเว้าโคนหนามก็มีหลายรูปแบบ ปลากัดหางมงกุฎที่สมบูรณ์จะมีครีบหางแผ่เต็มซ้อนทับได้แนวกับครีบอื่นๆ และส่วนของหนามมีการจัดเรียงในรูปแบบที่สวยงามสม่ำเสมอ
Friday, December 28, 2012
วิธีทำปลากัดคราวน์เทลยักษ์
พ่อพันธุ์ คัดเลือกพ่อพันธุ์ที่เป็นปลากัดหม้อยักษ์โดยเลือกพ่อพันธุ์ที่มีขนาดตั้งแต่ 3 นิ้วขึ้นไป (วัดตั้งแต่หัวถึงโคนหาง) ข้อสำคัญพ่อพันธุ์ต้องอายุไม่เกิน 6 เดือน เพราะช่วงอายุดังกล่าวถือเป็นช่วงวัยฉกรรจ์ ทำผลผลิตได้ดีนักแล ในเรื่องของสีสันขึ้นอยู่กับความชอบของผู้ทำ
แม่พันธุ์ เลือกตัวเมียที่เป็นคราวเทลชนิดที่มีหนามสวย ๆ และต้องตัวใหญ่มีความสมบูรณ์ เป็นตัวที่ใหญ่กว่าตัวอื่น ๆ ในครอกเดียวกันได้ยิ่งดี และควรมีอายุไม่เกิน 5 เดือน
เมื่อได้พ่อแม่พันธุ์แล้วทำการผสมพันธุ์กันได้เลย ซึ่งจะได้ลูกปลาในรุ่นที่ 1 เลือกเอาเฉพาะหัวปลาที่โตเร็วแยกออกมาขุนเลี้ยงต่างหาก โดยเริ่มทำการคัดแยกเมื่อลูกปลาอายุได้ประมาณ 1 เดือน จะทำให้ได้ลูกปลาที่โตเร็วประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ เลี้ยงลูกปลาที่คัดแยกแล้วในรุ่นที่ 1 จนเห็นฟอร์มปลา เพื่อจะนำมาคัดเป็นพ่อแม่พันธุ์ในรุ่นต่อไป ทำไปเรื่อย ๆ อย่าท้อเด็ดขาด ที่สำคัญส่วนที่เหลือจากการคัดให้ตัดใจปล่อยทำบุญทำทานไปเสียอย่าเสียดาย ทำการคัดแยก และผสมกันไปอย่างต่อเนื่องสัก 4 รุ่น ก็จะได้ปลากัดคราวเทลยักษ์ฟอร์มสวย ๆ อย่างที่กล่าว ข้อสำคัญของคราวเทลยักษ์นั้นอยู่ที่หนาม ๆ ปลาต้องสวย การแตกของหนามต้องเป็นระเบียบสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้ที่คิดทำคราวเทลยักษ์ ขอให้มีความสุขกับการพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดกันนะครับ
ปลากัดภูเขา หรือ ปลากัดปีนัง
ปลากัดภูเขา หรือ ปลากัดปีนัง ปลาน้ำจืดขนาดเล็กชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta pugnax อยู่ในวงศ์ Macropodinae ซึ่งอยู่ในวงศ์ใหญ่ Osphronemidae รูปร่างและคล้ายปลากัดทั่วไป
แต่มีลำตัวป้อมใหญ่กว่า หัวโต ครีบหางใหญ่ ตัวผู้มีสีน้ำตาลคล้ำ ข้างแก้มสีฟ้าเหลือบเขียว เกล็ดมีจุดสีฟ้าเหลือบทั้งตัว ครีบสีน้ำตาลอ่อน ครีบหลังและครีบหางมีลายเส้นประสีคล้ำ
ครีบก้นมีขอบดำ ตัวเมียสีน้ำตาลอ่อน และมีแถบสีคล้ำพาดตามแนวยาวของลำตัว ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 5-7 เซนติเมตร
พฤติกรรมของปลากัดชนิดนี้ ไม่เหมือนปลากัดจำพวกก่อหวอด อย่าง ปลากัดภาคกลาง (B. splendens) หรือ ปลากัดอีสาน (B. smaragdina) เนื่องจากการผสมพันธุ์และวางไข่ ปลาตัวผู้จะไม่ก่อหวอดแต่จะอมไข่ไว้ในปากจนฟักเป็นตัว (Mouthbrooder)
ทั้งนี้เชื่อว่าเป็นเพราะสภาพแวดล้อม ที่ปลากัดภูเขาอาศัยอยู่ คือ ลำธารที่น้ำไหลเชี่ยวแรงบนภูเขา อีกทั้งปลากัดจำพวกนี้ไม่มีนิสัยดุร้าย ก้าวร้าว เหมือนพวกปลากัดก่อหวอด
จึงสามารถพบอยู่กันเป็นฝูงได้หลาย ๆ ตัว อีกทั้งอวัยวะที่ช่วยในการหายใจ (Labyrinth) ทำงานได้ไม่สมบูรณ์เท่าปลากัดก่อหวอด
พบกระจายอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำบนภูเขา ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทย พบได้เฉพาะภาคใต้เท่านั้น
จัดเป็นหนึ่งใน 4 ชนิด (Species) ของปลากัดประเภทอมไข่ที่พบในประเทศไทย อีก 3 ชนิดนั้น ได้แก่ ปลากัดหัวโม่ง (B. prima) ปลากัดกระบี่ (B. simplex) และปลากัดน้ำแดง หรือ ปลากัดช้าง (B. pi)
Subscribe to:
Posts (Atom)